อาการปวดคอจากท่าทางการทำงาน อาจจะเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมได้
เคยมีอาการปวดคอร้าวไปที่สะบักและไหล่บางทีก็มีอาการปวดร้าวไปที่แขน เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในวัยกลางคนและในวัยสูงอายุ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากการเสื่อมของกระดูกคอศูนย์โรคกระดูกและข้อ หรืออีกสาเหตุอาจะเกิดจากท่าทางการทำงานนั้นไม่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์จะต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
โรงพยาบาลธนบุรี จึงได้อธิบายเกี่ยวกับสาเหตุและอาการดังกล่าวว่า กระดูกสันหลังส่วนคอนั้นประกอบด้วยกระดูกอ่อนคั่นอยู่ หมอนรองกระดูกเป็นกระดูกอ่อนชนิดพิเศษ จะมีความยืดหยุ่น สามารถทำให้คอมีความยืดหด หรือเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ กัน ดังนั้น กระดูกคอมีหน้าที่สำคัญที่ทำให้ศีรษะสามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ กันตามที่เราต้องการ เช่น ก้มหรือเงยศีรษะ หันหน้าไปทางซ้ายหรือขวา หรือเอียงศีรษะไปทางซ้ายหรือขวา นอกจากนี้กระดูกคอยังทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักศีรษะไว้ตลอดเวลา ซึ่งน้ำหนักของศีรษะและคอรวมกันประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ภายในกระดูกคอจะมีประสาทไขสันหลังอยู่ ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ไปทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและรับความรู้สึกของแขนและขา
เมื่ออายุย่างเข้าวัยกลางคน คือ 30 ปีขึ้นไป หมอนรองกระดูกซึ่งเป็นกระดูกอ่อน จะเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมตัวคือ องค์ประกอบที่เป็นน้ำที่ทำให้เกิดการยืดหยุ่นในตัวของหมอนรองกระดูกคอจะลดลงไป ทำให้คุณสมบัติในการยืดหยุ่นของหมอนรองกระดูกเสียไป ทำให้กระดูกคอปล้องที่หมอนรองกระดูกมีการเคลื่อนไหวไปในลักษณะที่ไม่ราบเรียบเป็นปกติถ้าเราไม่ระมัดระวังปล่อยให้กระดูกคอเคลื่อนไหวมากเกินขอบเขต ก็จะทำให้เกิดการชำรุดของหมอนรองกระดูกคอเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีผลทำให้ข้อต่อของกระดูกคอปล้องนั้นๆ เสียไป
อาการเริ่มต้นของหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
คือ จะมีอาการปวดคอและคอแข็งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตกหมอน” บางทีก็มีอาการปวดตื้อๆ ลึกๆ ที่บริเวณสะบัก ที่ชาวบ้านเรียกว่า “สะบักจม” อาการทั้งสองอย่างนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าหมอนรองกระดูกคอเริ่มมีอาการเสื่อมตัวแล้วถ้าการเสื่อมตัวของหมอนรองกระดูกคอมากขึ้นก็จะมีการทรุดตัวของหมอนรองกระดูกคอมากขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างกระดูกคอแคบลง และมีกระดูกงอกตามขอบของข้อต่อกระดูกคอ ที่เรียกว่า “กระดูกงอก” หรือ “หินปูนเกาะ” มีผลทำให้เกิดการตีบแคบของช่องประสาทที่ผ่านลงไป เมื่อตีบแคบถึงระดับหนึ่ง ก็จะเกิดการกดทับเส้นประสาทและประสาทไขสันหลัง ถ้าเป็นการกดทับเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดการปวดร้าวลงไปตามแขนจนถึงนิ้วมือ ถ้ากดมากๆ จะทำให้เกิดอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง
คุณหมอกล่าวถึงการรักษาว่า ในระยะเริ่มต้นของหมอนรองกระดูกเสื่อมให้การรักษาทางยาและกายภาพบำบัด คือ หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของกระดูกคอมากเกินไป อาจจะต้องให้นอนพักหรือมีการถ่วงดึงคอ ให้ยาลดการอักเสบและแก้ปวด บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงเพื่อช่วยแบกรับน้ำหนักศีรษะไม่ให้ผ่านกระดูกคอมากเกินไป อาจจะให้ใส่เครื่องพยุงคอ(Cervical collar) เพื่อช่วยเตือนให้คออยู่ในลักษณะปกติ ลักษณะการนอน ควรใช้หมอนนิ่มๆ มีส่วนรองรับกระดูกคอให้อยู่ในลักษณะปกติ หมอนจะต้องไม่สูงเกินไป ถ้าไม่หนุนหมอนเลยก็ไม่ได้ เพราะไม่มีส่วนรองรับคอ (กระดูกคอปกติจะต้องโค้งไปทางด้านหน้าเล็กน้อย) เมื่อกระดูกคอมีการเสื่อมตัวมากแล้วและมีการกดทับเส้นประสาทหรือประสาทไขสันหลังแล้ว การรักษาทางยาและกายภาพบำบัดจะไม่ได้ผล จะต้องให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัด
ศูนย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี ยังได้ให้คำแนะนำเพื่อช่วยชะลอการเสื่อมตัวของกระดูกคอ หรือไม่ให้เสื่อมตัวเร็วเกินไป ไว้ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยๆ
2.การนั่งทำงาน นั่งอ่านหนังสือหรือนั่งเขียนหนังสือ ควรให้คออยู่ในลักษณะตรงปกติ อย่าก้มคอมากเกินไป
3.การนอนควรใช้หมอนหนุนศีรษะ โดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ
4.บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงสม่ำเสมอ
5.หลีกเลี่ยงการทำงานโดยแหงนคอเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ
6.หลีกเลี่ยงการรักษาโดยวิธีการดัดคอ หรือบิดหมุนคอ การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในปัจจุบัน เพราะสาเหตุของโรคต่างๆ ล้วนเกิดจากการไม่ดูแลเอาใจใส่ร่างกายเท่าที่ควร การทำตามคำแนะนำของแพทย์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน เพื่อร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
โรคกระดูกคอเสื่อม
โรคกระดูกคอเสื่อม นับเป็นอีกหนึ่งโรคของการเจ็บปวดของกระดูกที่พบได้มากในปัจจุบัน สาเหตุสำคัญคือ เมื่ออายุมากขึ้น ข้อต่อต่างๆ ระหว่างกระดูกคอแต่ละปล้อง ที่ได้รับแรงกระแทกมานาน มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างไป เช่น หมอนรองกระดูกสันหลังที่มีส่วนประกอบของน้ำ เปลี่ยนจาก 88% ในเด็ก เป็น 70% ในคนอายุ 72 ปี ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังยุบลง (คนอายุมากจึงเตี้ยลงกว่าเดิม) และมีความยืดหยุ่นลดลง ส่งผลให้ส่วนอื่นที่อยู่รอบข้างต้องรับแรงกระแทกมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีหินปูนมาเกาะกระดูกและเอ็นพังผืดต่างๆ ทำให้หนาตัวขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการต่างๆ มักเกิดตรงบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวมาก คือที่ หลังคอ และ หลังเอว เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนขึ้นไป ก็มักจะมีการเสื่อมที่กระดูกสันหลังขึ้นได้ จากภาพรังสีของคนทั่วไปพบว่า คนอายุ 50 ปี จำนวนร้อยละ 50 จะมีอาการกระดูกคอเสื่อม และคนอายุ 65 ปี พบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75-85
ทุกคนคงเคยมีอาการปวดคอ ซึ่งส่วนมากเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเอ็นรอบคอ เกิดอาการเคล็ด ขัด ยอก ซึ่งมักไม่รุนแรงและหายไปเองได้ แต่ไม่แน่ว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดจากกระดูกคอเสื่อมก็ได้ เมื่ออายุมาก ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ทุกคน
ลักษณะอาการของโรคกระดูกคอเสื่อม
เมื่อเกิดขึ้นหินปูนที่เกาะกระดูกและเอ็นจะไปกดเส้นประสาททำให้เกิดอาการ ปวดคอร้าวไปยังแขนและเกิดอาการชาที่แขน มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือ ลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง ถ้าไม่มีการปวดร้าวมาที่แขน แสดงว่ายังไม่มีการกดเส้นประสาท แต่จะปวดกระดูกและข้อต่างๆ ในกระดูกสันหลัง ซึ่งมีการเสื่อมสภาพไป ถ้ามีการกดเส้นประสาทใด จะมีอาการปวดร้าวไปตามบริเวณที่เส้นประสาทถูกกด อาการนี้มักจะเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง โดยระดับกระดูกคอที่มีการเสื่อมบ่อยมาก กระดูกข้อที่ 5-6และข้อที่ 6-7
อาการ
- ปวดหลังคอร้าวไปยังแขนตรงกล้ามเนื้องอแขน และอาจปวดร้าวไปถึงแขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วโป้งและนิ้วชี้ และอาการเส้นประสาทคอเส้นที่ 7 ถูกกด คือปวดหลังคอร้าวไปด้านหลังของไหล่ ไปหลังแขนตรงกล้ามเนื้อเหยียดแขน และอาจปวดร้าวไปถึงด้านหลังของแขนท่อนล่าง จนถึงนิ้วกลาง ถ้ามีการกดประสาทไขสันหลังขึ้น จะมีอาการแบบค่อยๆ อ่อนแรงลงเรื่อยๆ
- โดยจะเป็นแบบนี้เรื้อรังหลายปีและจะลุกลามจนกระทั่งเดินไม่ได้เลยทีเดียวแต่ในระยะเริ่มต้นมักมีอาการเพียงเล็กน้อยเช่น เดินไม่คล่อง ทำของหล่นจากมือบ่อยๆ เมื่อเป็นมากขึ้น จะเดินขากาง โน้มตัวไปข้างหน้า ในที่สุดก็จะเดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น กลัดกระดุมเสื้อไม่ได้ เขียนหนังสือลายมือไม่เหมือนเดิม ซึ่งเมื่อทำการตรวจร่างกาย ก็จะพบกล้ามเนื้อมือลีบลงและอ่อนแรงลง กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง มีอาการปวดแบบไฟฟ้าช็อตหรือชาไปกลางหลังเวลาก้มคอ
สำหรับการวินิจฉัยเพื่อรักษานั้น
เมื่อคนอายุมากส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกคอที่เห็นได้จากภาพรังสี แต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีอาการ ดังนั้น การวินิจฉัยโรคนี้ต้องซักประวัติและตรวจร่างกายให้ละเอียด อาการทุกอย่างต้องเข้าได้กับภาพทางรังสี และภาพทางคอมพิวเตอร์แม่เหล็ก (MRI)
กระดูกคอเสื่อมรักษาอย่างไรไม่ผ่าตัด
กระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวัยกลางคนและผู้สูงอายุ โดยสาเหตุเกิดจากความเสื่อมของกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งอาการจะเป็นมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามากถึง 85% ของผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปีนั้นมีหมอนรองกระดูกคอเสื่อม บางรายไม่แสดงอาการ บางรายมีอาการร่วมด้วยมากน้อยแตกต่างกัน
หากความเสื่อมเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหรือชา เหตุมาจากข้อต่อบริเวณคอเสื่อมและอักเสบ, กล้ามเนื้อคอทำงานหนักมากขึ้น ช่องเส้นประสาทบริเวณคอปิดแคบลงทำให้เส้นประสาทถูกกดทับ รวมไปถึงการขยับของหมอนรองกระดูกคอที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม โดยอาการที่เป็นไปได้จากกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอเสื่อม คือ
- อาการปวดคอสะบักร้าวไปที่แขนบางรายร้าวไปถึงมืออาการสัมพันธ์กับท่าทางของคอโดยเฉพาะท่าหันและเงยศีรษะ
- ปวดแปล๊บๆ เหมือนไฟดูดหรือมีอาการชาบริเวณดังกล่าวร้าวไปที่แขนมือหรือบริเวณนิ้ว
- ลายมือเปลี่ยนไปติดกระดุมไม่ถนัดหรือใช้มือได้ไม่คล่องเหมือนเคย
- มืออ่อนแรงยกขวดน้ำหรือแก้วน้ำไม่ไหว
- ผู้ป่วยมีอาการเดินได้ลำบากขึ้นทรงตัวได้แย่ลงหากเป็นมากขึ้นจะเดินช้าลงและเดินกางขาโดยไม่รู้ตัว
- หากการกดทับเส้นประสาทเป็นไปมากแล้วผู้ป่วยจะไม่สามารถกกลั้นปัสสาวะหรือกลั้นอุจจาระได้
อาการเหล่านี้มีสาเหตุได้จาก
- ตัวหมอนรองกระดูกนั้นมีอาการเสื่อมร่วมกับเสียความยืดหยุ่น ส่งผลให้หมอนรองกระดูกมีความสูงที่ลดลง หากทรุดลงมากอาจพบกระดูกคอเกิดการสัมผัสกดกัน เกิดอาการปวดขึ้น ซึ่งความเสื่อมนี้มักจะพบหลังจากอายุ 40 ปี
- เกิดจากหมอนรองกระดูกคอมีการเคลื่อนหรือแตก ส่งผลให้ตัวเนื้อหมอนรองกระดูกนั้นไปทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดร้าว ชา หรืออ่อนแรงบริเวณสะบัก แขน หรือมือได้
- ถัดไปคือกระดูกงอก เมื่อความเสื่อมเป็นไปมากขึ้น ตัวกระดูกคอจะมีการงอกออกมาเพื่อทดแทนความแข็งแรงของกระดูกคอและหมอนรองกระดูกคอที่เสื่อมไป กระดูกที่งอกออกมานี้เองที่จะกดทับต่อเส้นประสาทคอ หรือโคนเส้นประสาทคอ ส่งผลทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้
- เกิดจากการตึงตัวและการอักเสบของตัวเอ็นที่อยู่รอบๆ ข้อต่อกระดูกคอ ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณคอ ได้โดยอาการจะสัมพันธ์กับท่าทางและกิจกรรมต่างๆ
แนวทางการรักษา
- การรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม สามารถทำได้โดยเริ่มจากการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวด เพราะอาการดังกล่าวสามารถเกิดจาก กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูก หรือเส้นประสาทก็ได้ แพทย์จะใช้การซักประวัติ และตรวจร่างกายเป็นหลักในการวินิจฉัยหาสาเหตุ บางครั้งอาจต้องใช้เอ็กซเรย์ (X-ray) หรือ MRI เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา
- หลังจากทราบสาเหตุที่แท้จริงแล้ว แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วย ซึ่งพบว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัดนั้นได้ผลดีกับโรคกระดูกคอเสื่อมทั้งที่อาการเพิ่งเริ่มเป็น และเป็นไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือการฉีดยาด้วยเทคนิคพิเศษต่างๆ ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นมากแล้ว ก็สามารถมีอาการดีขึ้นจากการรักษาแบบไม่ผ่าตัดได้
- การฉีดยาด้วยเทคนิคพิเศษนี้ จะฉีดภายใต้เครื่องเอ็กซเรย์ (X-ray) ซึ่งทำให้มีความแม่นยำและใช้ยาปริมาณน้อย ทำให้ผู้ป่วยจะได้รับความเจ็บปวดน้อยที่สุด โดยยาที่ฉีดประกอบไปด้วยยาลดการอักเสบและยาลดปวด ส่งผลให้อาการปวด อาการชา และอ่อนแรงของผู้ป่วยลดลงในระยะเวลาต่อมา นอกจากนี้การฉีดยาบริเวณเส้นประสาทคอนั้นสามารถช่วยในการวินิจฉัย และช่วยยืนยันตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับและเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าวเพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาในอนาคตได้อีกด้วย
การรักษาแบบไม่ผ่าตัดจึงเหมาะกับ
- ผู้ป่วยที่มีอาการเสื่อมยังไม่มาก
- ผู้ป่วยที่อาการเป็นมากขึ้นรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้วแต่ไม่อยากได้รับความเสี่ยงจากการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดแต่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถเข้าผ่าตัดได้